16 ต.ค. 2553

การเล่นกล้ามด้วยเทคนิคปิรามิด

เพิ่มกล้ามเหมือนพีระมิด
             
                ในการฝึกแบบเพิ่มน้ำหนักขึ้นไปเรื่อยๆ[Pyramiding]ในทุกๆ เซ็ตที่ฝึก [เซ็ตแรกอาจเป็น 25 กก. เซ็ตที่สอง 30 กก. เซ็ตที่สาม 40 กก. ฯลฯ เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงน้ำหนักสูงสุดที่เล่นได้ในท่านั้นๆ] เทคนิคนี้ช่วยในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งถ้ายกน้ำหนักสูงสุดตั้งแต่เซ็ตแรกเลย อาจเกิดการบาดเจ็บขึ้นได้ เพราะร่างกายยังไม่ได้วอร์มอัพ และยังไม่พร้อมที่จะทำงานร่วมกันเพื่อเกร็งตัวให้พร้อมที่จะยกน้ำหนักที่น้ำหนักมากๆ นั้น การประสานงานของกล้ามเนื้อต่างๆ ที่จะยกน้ำหนักนั้นเปลี่ยนแปลงไปทุกครั้งที่น้ำหนักที่ยกเปลี่ยนไป ซึ่งหมายความว่ายิ่งน้ำหนักเปลี่ยนไปมาก การช็อกต่อกล้ามเนื้อก็ยิ่งมาก [แต่ถ้ามีการเปลี่ยนน้ำหนักไปทีละน้อย ความปลอดภัยจะมากกว่า เพราะทำให้กล้ามเนื้อสามารถปรับตัวที่จะยกน้ำหนักที่หนักขึ้นในเซ็ตต่อไปได้ดีกว่า]

               นักเพาะกายบางคนใช้วิธีเพิ่มจำนวนครั้งขึ้นไปทีละน้อย เช่น ในเซ็ตแรยกจำนวนครั้งแค่ 60% ของจำนวนครั้งที่ฝึกแล้วหมดแรง เซ็ตที่สอง 75% ของจำนวนครั้งที่ฝึกแล้วหมดแรง เซ็ตที่สาม 80% ของจำนวนครั้งที่ฝึกแล้วหมดแรง และเซ็ตสุดท้ายที่ 100% ของจำนวนครั้งที่ฝึกแล้วหมดแรง
               แต่ส่วนใหญ่ใช้วิธีเพิ่มน้ำหนักที่ฝึกขึ้นเรื่อยๆ แล้วลดจำนวนครั้งที่ฝึกลงทีละน้อยซึ่งนักเพาะกายหลายๆ คนก็ใช้วิธีเพิ่มน้ำหนักที่ฝึกขึ้นเรื่อยๆ แต่พยายามคงจำนวนครั้งที่ฝึกในแต่ละเซ็ตไว้ บางคนฝึกไปจนถึงจุดหมดแรงในทุกเซ็ต แต่เพิ่มน้ำหนักที่ฝึกในแต่ละเซ็ตขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้นจำนวนครั้งที่ฝึกจนถึงจุดดหมดแรงในแต่ละเซ็ตจึงลดลง

               วิธีที่ได้ผลดีที่สุดที่ขอแนะนำ คือวิธีคงจำนวนครั้งที่ฝึกในแต่ละเซ็ตไว้ แม้จะต้องเพิ่มน้ำหนักขึ้น ก็ต้องพยายามไปถึงจุดหมดแรงในทุกเซ็ตโดยไม่ลดจำนวนครั้งลง ซึ่งสามารถทำได้โดยการเปลี่ยนความเร็วในการฝึก โดยฝึกแบบเน้นๆ ช้าๆ ในเซ็ตแรก ที่น้ำหนักไม่มาก แล้วฝึกให้เร็วขึ้นๆ ในเซ็ตที่หนักขึ้นๆ เทคนิคนี้นำไปใช้ได้เกือบทุกท่า ที่ฝึก 3-4 เซ็ต และจำนวนครั้งที่ 10-15 ครั้ง ในแต่ละเซ็ต

               อย่างไรก็ดีการฝึกที่ดีไม่ได้อยู่ที่การเพิ่มน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ได้อยู่ที่สามารถฝึกไปถึงจุดหมดแรงได้มากกี่ครั้ง แต่อยู่ที่การควบคุมการฝึกให้ดี ทำให้กล้ามเนื้อที่ต้องการฝึกได้ออกแรงอย่างถูกต้องเต็มที่ วิธีการฝึกแบบต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะได้ผลก็ต่อเมื่อเพ่งสมาธิไปที่กล้ามเนื้อที่กำลังเคลื่อนไหวยกน้ำหนักนั้นอยู่ตลอดช่วงการฝึก
           

1 ความคิดเห็น:

เมทนี กล่าวว่า...

อันนี้ผมขอแนะนำนะครับเทคนิคนี้

แสดงความคิดเห็น